คำกล่าวอ้าง

3_1_~1

                                                                                                  (กว่าจะ)รู้จักรัก

คนเรามักคิดว่าอารมณ์โรแมนติคหลงเคลิ้มชวนฝันมาก ๆ อยากมีเค้าอยู่ข้างกายมาก ๆ คือ รักมาก ทั้งที่แท้จริงแล้วมันคืออาการปรากฏของกิเลส และความยึดมั่นในตัวตนของตนเอง อันนี้คือ รักอย่างทางโลก ไม่ใช่รักอย่างทางธรรมที่ไม่ประกอบด้วยกิเลส และความยึดถือ

ครั้งหนึ่งเมื่อนานมาแล้ว มีคนเคยทักว่า “ให้ ให้มาก ๆ นะ แล้วจะไม่เจ็บ” ตอนนั้นเราไม่เข้าใจ ตีความอย่างตื้น ๆ เอาว่า ที่บอกว่าให้ ให้มากๆ คงเพราะจะได้ไม่รู้สึกเสียใจภายหลังเพราะทำเต็มที่แล้วอันนั้นก็ถูกส่วนหนึ่ง แต่ยังตอบปัญหาได้ไม่สมบูรณ์ จนเมื่อมา ศึกษาพุทธศาสนา ย้อนมองเข้ามาในตัว ศึกษาจากทุกข์ ศึกษาจากกรรม  (การกระทำ)

“ที่คนเราต้องทุกข์และผิดหวังในความรัก ก็เพราะอยากได้ กลัวสูญเสีย”

ถ้าเข้าใจว่าตรงนี้ทำให้ทุกข์ ก็จะทำให้เข้าใจว่าเรารักเขาหรือรักตัวเอง ตัวเองมีทุกข์ขึ้นมาเมื่อไหร่ นี่แปลว่าเรารักตัวเองแล้ว

วิธีคลายทุกข์และรักอย่างเป็นสุขนั้นต้องเข้าใจก่อนว่า 

“สุขเกิดขึ้นที่ใจเรา ไม่ใช่อยู่ที่ใครมาให้ อยู่ที่ใครมาเป็นดั่งใจ”

“ทุกข์เกิดขึ้นที่ใจเรา ไม่ใช่เพราะใครเดินจากไป ไม่ทำตามใจ”

เปลี่ยนมุมมองเสียใหม่ “มันเกิดขึ้นที่ใจเรา” ก็ต้องแก้ที่ใจเรา โฟกัสปัญหาให้มาอยู่ที่ตัวเรานี้ ซึ่งจะตรงกับคำว่า กฎแห่งกรรม (การกระทำ)

วิธีสอนให้ใจมีปัญญา เบื้องต้นคือ “การให้” รู้จักสละสิ่งของ เงินทอง กำลังกาย กำลังใจ ของตนเอง ให้จิตรู้จักคำว่า สละ คำว่า ปล่อย คำว่า วาง ให้รู้ว่าการถือ การมี คือ ความหนัก คือ การแบก ใจจะเริ่มฉลาด ไม่งั้นใจจะเคยชินที่จะยึด แม้ว่าเห็น ๆ อยู่ว่าสิ่งที่ยึดอยู่เป็นทุกข์ (เห็นหรือยังว่าความเคยชินที่จะยึดน่ะมันเป็นทุกข์ เพราะจิตมันแยกไม่ออกหรอกว่าอันไหนสุข อันไหนทุกข์ มันเคยชินที่จะยึด มันก็จะเอาเก็บไว้ทุกอย่าง)

ขั้นต่อมาให้เข้าใจความหมายของการให้ ให้มากขึ้นคือ “สละของตน ส่วนเกินของตน เพื่อประโยชน์สุขของผู้อื่น” ไม่ใช่อย่างการให้เพื่อให้ตนเองได้ ให้เพื่อตนเองมีความสุขท่าเดียว มันมีความพอใจในการทำเพื่อให้โดยสมบูรณ์ โดยไม่ยึดผลว่าจะต้องเป็นอย่างไร ไม่ทำด้วยอารมณ์ของเรา ที่จะตกจากเหตุผลคือ ปัญญาทันที รู้จักให้ด้วยความไม่คาดหวังเรื่อย ๆ  จะทำให้จิตฉลาด จะเกิดความช่างสังเกต มีปํญญาที่จะให้สิ่งที่ดี เหมาะแก่คน สมควรแก่เวลา นี้ก็จะทำให้เข้าใจความรักที่แท้จริง ที่ไม่ก่อให้เกิดทุกข์แก่ทั้งผู้รับและผู้ให้ตามลำดับ

ที่คิดว่าขาดความรักเพราะหวังว่าจะได้  แต่ถ้าเข้าใจเสียใหม่ว่าความรักคือการให้จะไม่รู้สึกขาดเลย

อ้างอิง http://www.sangtean.com/love/reading/part-2-short-articles/

(กว่าจะ)รู้จักรัก